วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บทความ

                                    บทความ

  


วิทย์-คณิตปฐมวัย สำคัญอย่างไรต่ออนาคตของชาติ?

        การศึกษาปฐมวัย คือ การวางรากฐานการเรียนรู้ให้กับเด็ก เพื่อพัฒนาศักยภาพในการคิด และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดั้งนั้น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)  จึงริเริ่มให้มีโครงการบูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีปฐมวัย  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549    จนถึงวันนี้ ได้นำมาสู่การพัฒนากรอบมาตรฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ปฐมวัยขึ้น
       เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.)ได้จัดให้มีการเปิดตัวกรอบมาตรฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ปฐมวัยขึ้น ณโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานครโดยมีครูปฐมวัยจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 1,000  คน  
       หนึ่งในกิจกรรมคือ การจัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง “วิทย์-คณิตปฐมวัย สำคัญอย่างไรต่ออนาคตของชาติ” โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาปฐมวัยและการพัฒนาเด็ก ได้แก่ รศ.ดร.วรากรณ์  สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต นายแพทย์ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ และ ดร.เขมสิริ ประภามนตรีพงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนประภามนตรี เข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้
       “คุณภาพของครูเป็นเรื่องที่สำคัญ ครูต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู ต้องมีโอกาสก้าวหน้า และมีแรงจูงใจให้แก่ครู หลักสูตรต้องเปลี่ยนแปลง คือ 70-30 เปอร์เซ็นต์ระหว่างเล่นและเรียน เด็กปฐมวัยต้องเน้นที่การเล่นมากกว่า ที่สำคัญการปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ร่วมกันของผู้ปกครองและทุกส่วนในสังคม”
        ด้านนายแพทย์ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ในฐานะจิตแพทย์ พูดถึงพัฒนาการทางสมองของเด็กในการเรียนรู้ วิทย์-คณิตว่า ปัจจุบันเราไม่สามารถแยกหน้าที่ของสมองซ้าย-ขวา ออกจากกันได้ และมีการค้นพบที่ต่างออกไปคือ สมองเด็กมีการพัฒนาจากด้านหลังไปด้านหน้า และกระบวนการทำงานของสมองจะมีการจัดระเบียบใยประสาท และเชื่อมใยประสาทซีกซ้าย-ขวา เข้าหากัน โดยเฉพาะในช่วง อายุ 3-5 ปี ทำให้เกิดความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เราจึงค้นพบว่าเด็กปฐมวัยสามารถเรียนภาษาพร้อมๆกันได้หลายภาษา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ปฐมวัย และบูรณาการกิจกรรม ไม่ใช่การแยกกิจกรรม  เช่น การใช้ดนตรีในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ได้
       ส่วน อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข พูดถึงการเรียนรู้วิทย์-คณิตของเด็กในช่วงปฐมวัยว่า มีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วน คือ เนื้อหาความรู้ ,กระบวนการ และเจตคติ ในช่วงเริ่มต้นเจตคติเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการเรียนอะไรด้วยความรักจะนำมาซึ่งความสุข จากนั้นควรมีกระบวนการที่สร้างให้เด็กเป็นนักวิทยาศาสตร์ รู้จักการสืบค้น แต่ปัญหาจากการทำวิจัยเด็กไทยทั่วประเทศ พบว่า ทางด้านสังคมนั้นเด็กไทยปรับตัวได้ดี แต่เรื่องสติปัญญา พื้นฐานด้านคณิต-วิทย์นั้นต้องแก้ไขปรับปรุง ซึ่งสาเหตุใหญ่เกิดจากการเลี้ยงดูในครอบครัวที่ไม่ได้ปลูกฝังให้ใช้เหตุผล โดยยกตัวอย่างว่า เมื่อเด็กหกล้ม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ยังใช้วิธีการกล่าวโทษว่าเป็นเพราะพื้นผิวไม่เรียบ แทนที่จะมองว่าเด็กขาดความระมัดระวัง เป็นต้น
      สุดท้าย นพ.ยงยุทธ์ ฝากข้อห่วงใยไปยังผู้ปกครองที่มีลูกในช่วงปฐมวัยว่า การใช้สื่อโทรทัศน์มากเกินไปทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาสมาธิได้ตามวัย และในระดับปฐมวัยไม่จำเป็นต้องให้ใช้สื่อ ICT จนกว่าจะขึ้นชั้นประถมศึกษา
             อนึ่ง สสวท.ได้มีการสร้างกรอบมาตรฐาน และคู่มือกรอบมาตรฐานการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ปฐมวัย โดยนำเสนอตัวอย่าง การบูรณาการกิจกรรมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และยังได้มีการจัดอบรมครู และวิทยากรแกนนำ เพื่อนำไปขยายผล ทั้งนี้ มีโรงเรียนทั่วประเทศจำนวนกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง และครูปฐมวัยเข้าร่วมอบรมแล้วจำนวน 18,679  คน








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น